คู่มือบรรษัทภิบาล

คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี

จรรยาบรรณทางธุรกิจ

จรรยาบรรณทางธุรกิจของคู่ค้า

นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

คณะกรรมการมีเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมให้บริษัท เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ และมีระบบการบริหารงานที่มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ มีความเท่าเทียมและเป็นธรรมเพื่อสามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืนโดยสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับบริษัท สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจของบริษัท ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจของบริษัท ซึ่งได้แก่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และสังคม ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม

บริษัทมีการกำหนดนโยบายกำกับดูแลกิจการและทบทวนปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน เพื่อให้คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน โดยมีกรรมการบริษัทเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณและหลักบรรษัทภิบาล ที่จะร่วมกันส่งเสริมให้บริษัทเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ มีการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นโดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อนำไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญดังนี้

สิทธิของผู้ถือหุ้น

ผู้ถือหุ้นในฐานะเจ้าของบริษัท มีสิทธิซื้อขายหรือโอนหุ้น สิทธิในส่วนแบ่งกำไร สิทธิเข้าร่วมประชุม การเสนอวาระการประชุมล่วงหน้า การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริษัท การมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญของบริษัท การอนุมัติธุรกรรมสำคัญที่มีผลต่อทิศทางในการดำเนินธุรกิจของบริษัท การใช้บัตรลงคะแนนเสียงในวาระสำคัญเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ การใช้สิทธิออกเสียงด้วยตนเองหรือโดยการมอบฉันทะให้ผู้อื่น การได้รับหนังสือเชิญประชุม การได้รับและเข้าถึงสารสนเทศของบริษัท ทั้งก่อนและหลังการประชุม รวมทั้ง ผลการพิจารณาและผลของการลงคะแนนเสียง โดยผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่น ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ เว็บไซต์ของบริษัท เป็นต้น

ในทุกปีบริษัทได้จัดการประชุมสามัญประจำปี โดยได้ดำเนินการประชุมผู้ถือหุ้นให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งนอกเหนือจากสิทธิพื้นฐานต่างๆ แล้ว บริษัทยังได้ดำเนินการต่างๆ ดังนี้

ก่อนการประชุมสามัญประจำปี

1) บริษัทได้จัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีปีละครั้ง โดยจัดประชุมภายในระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดรอบบัญชีของบริษัท และหากมีกรณีเร่งด่วนที่จำเป็นต้องใช้มติของผู้ถือหุ้น บริษัทจะเรียกประชุมวิสามัญประจำปีเป็นกรณีเฉพาะ

2) บริษัทได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในหนังสือเชิญประชุมสามัญประจำปีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งระบุวัน เวลา สถานที่ ระเบียบวาระการประชุมผู้ถือหุ้น ข้อมูลประกอบการพิจารณาระเบียบวาระต่างๆ พร้อมแนบหนังสือมอบฉันทะทุกแบบ ประกอบด้วยแบบ ก แบบ ข และแบบ ค ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเพื่อให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการตรวจสอบหรือบุคคลใด เข้าร่วมประชุมแทนตนได้ รวมถึงแผนที่ของสถานที่จัดประชุม

3) จัดส่งหนังสือเชิญประชุมสามัญประจำปี และเอกสารประกอบการประชุม และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ในรูปแบบ QR-Code ให้แก่ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อนำไปกระจายต่อผู้ถือหุ้นทุกรายล่วงหน้าก่อนวันประชุมสามัญประจำปี โดยผู้ถือหุ้นจะได้รับล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับข้อมูลข่าวสารเพื่อการตัดสินใจในการลงมติได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน โปร่งใส พร้อมทั้งประกาศหนังสือเชิญประชุมลงในหนังสือพิมพ์ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษติดต่อกัน 3 วัน ล่วงหน้าก่อนวันประชุม 7 วัน เพื่อเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าสำหรับให้ผู้ถือหุ้นเตรียมตัวมาร่วมประชุม

4) ผู้ถือหุ้นสามารถเสนอวาระการประชุม และ/หรือเสนอชื่อบุคคลเพื่อเลือกตั้งเป็นกรรมการในการประชุมสามัญประจำปี รวมถึงส่งคำถามล่วงหน้าก่อนวันประชุมสามัญประจำปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ตามที่บริษัทเปิดสิทธิให้ โดยผู้ถือหุ้นสามารถดำเนินการผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ ทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ทางไปรษณีย์ หรือทางเว็บไซต์ของบริษัท

วันประชุมสามัญประจำปี

  1. จัดให้มีสถานที่จัดการประชุมที่สะดวกต่อการเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมสามัญประจำปี และมีขนาดเพียงพอรองรับจำนวนผู้ถือหุ้นและผู้รับมอบฉันทะ
  2. บริษัทได้กำหนดแนวทางในการประชุมสามัญประจำปี เพื่อไม่ให้เกิดการรอนสิทธิ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน โดยผู้ถือหุ้นสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้ตลอดเวลาการประชุม เพื่อใช้สิทธิออกเสียงในวาระที่ยังไม่ได้ลงมติ ตลอดจนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระภายในเวลาที่สมควร
  3. เมื่อถึงเวลาเริ่มการประชุม กรรมการ คณะกรรมการชุดย่อยต่างๆ ผู้บริหาร ตลอดจนผู้สอบบัญชี และที่ปรึกษากฎหมาย จะเข้าร่วมประชุมโดยก่อนเริ่มประชุม ประธานที่ประชุมได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทเป็นผู้ชี้แจงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมทั้งหมด เช่น การเปิดประชุม และการออกเสียงลงคะแนน รวมทั้งวิธีการนับคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นที่จะต้องลงมติในแต่ละวาระ
  4. บริษัทใช้บัตรลงคะแนนสำหรับทุกวาระที่จะต้องมีการลงมติ เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และในวาระการเลือกตั้งกรรมการได้เปิดให้มีการเลือกตั้งกรรมการเป็นรายบุคคล
  5. ผู้ถือหุ้นที่เข้าประชุมภายหลังจากประธานในที่ประชุมเปิดการประชุมแล้ว สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ในวาระที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่ได้มีการลงมติ โดยให้นับเป็น องค์ประชุมตั้งแต่วาระที่ได้เข้าประชุม เป็นต้นไป ซึ่งอาจทำให้มีผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในแต่ละวาระไม่เท่ากันได้
  6. ในการประชุมสามัญประจำปีนั้น หากมีกรรมการที่มีส่วนได้เสียในวาระใด กรรมการท่านนั้น ต้องแจ้งต่อที่ประชุมเพื่องดออกเสียงและไม่เข้าร่วมประชุมในวาระนั้นๆ

หลังวันประชุมสามัญประจำปี

  1. บริษัทได้เปิดเผยมติที่ประชุมสามัญประจำปีโดยแจ้งข่าวไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายหลังจบการประชุมในวันเดียวกัน และนำมติเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัทภายในวันทำการถัดไป
  2. บริษัทได้จัดทำรายงานการประชุมสามัญประจำปีโดยแยกวาระชัดเจน ระบุรายชื่อกรรมการที่เข้าประชุม/ ไม่เข้าร่วมประชุม ข้อซักถามของผู้ถือหุ้น ข้อชี้แจงของคณะกรรมการ การนับคะแนนเสียง และผลคะแนนเสียงในแต่ละวาระอย่างครบถ้วน แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใน 14 วัน หลังวันประชุมตามข้อกำหนดของตลท. และเผยแพร่บันทึกรายละเอียดการประชุมอย่างครบถ้วนเหมาะสม พร้อมทั้งเผยแพร่รายงานการประชุมให้ผู้ถือหุ้นรับทราบบนเว็บไซต์บริษัท (www.metrosystems.co.th).

การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียม

บริษัทมีนโยบายดูแลผลประโยชน์และปฎิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกันทุกราย ทั้งที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย นักลงทุนสถาบัน หรือผู้ถือหุ้นต่างชาติ ให้ได้รับสิทธิและการปฏิบัติ ที่เป็นธรรมและเท่าเทียมกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น ซึ่งได้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นปัจจุบันผ่านเว็บไซต์นักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบข่าวสารสำคัญ มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติเรื่องการใช้ข้อมูลภายในเป็นลายลักษณ์อักษรและแจ้งให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งกำหนดให้กรรมการและผู้บริหารมีหน้าที่รายงานการถือครองหลักทรัพย์ให้คณะกรรมการทราบทุกไตรมาส รวมทั้งได้จัดทำหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นสามารถแสดงความคิดเห็นหรือตั้งคำถามต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัท โดยสามารถส่งคำถามที่เกี่ยวข้องกับวาระการประชุมล่วงหน้าก่อนวันประชุม และสามารถใช้สิทธิในการซักถามในที่ประชุมสามัญประจำปี หากเกิดข้อสงสัยในแต่ละวาระการดำเนินการประชุมต้องเป็นไปตามข้อบังคับของบริษัท ตามลำดับวาระการประชุม โดยต้องมีการเสนอรายละเอียดในแต่ละวาระอย่างครบถ้วน พร้อมแสดงข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างชัดเจน รวมทั้งต้องไม่เพิ่มวาระการประชุมที่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบล่วงหน้าโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะวาระที่มีความสำคัญที่ผู้ถือหุ้นต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ

คณะกรรมการบริษัทได้ตระหนักถึงการใช้ข้อมูลภายในโดยมิชอบ (Insider Trading) กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลหรือที่อาจถูกสันนิษฐานได้ว่าเป็นบุคคลซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลที่มีสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ และเป็นข้อมูลที่ยังมิได้มีการเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2559 มาตรา 242 (2) ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมและไม่ว่าด้วยวิธีใด โดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้รับข้อมูลอาจนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ ไม่ว่าเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการกระทำในลักษณะที่มิได้เป็นการเอาเปรียบบุคคลอื่นหรือในลักษณะตามที่คณะกรรมการกลต. ประกาศกำหนด” รวมถึงบริษัทได้กำหนดให้มีระยะเวลาห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัท ในช่วงระยะเวลา 1 เดือน ก่อนการประชุมคณะกรรมการบริษัทแต่ละคราว

บริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระการประชุมเพิ่มเติมและเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับ การเลือกตั้งเป็นกรรมการล่วงหน้าก่อนวันประชุมสามัญประจำปี โดยบริษัทได้เผยแพร่หลักเกณฑ์ดังกล่าวผ่านทางระบบ SET Portal ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งเว็บไซต์ของบริษัท

บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในความ รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอยู่เคียงคู่กับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน จึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามหลักจรรยาบรรณทางธุรกิจ นโยบายหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี นโยบายด้านความรับผิดชอบต่อสังคม นโยบายต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น นโยบายการจัดหาและตรวจสอบคู่ค้าและนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผู้มีส่วนได้เสีย ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่แข่งขัน ผู้ร่วมค้าหรือเจ้าหนี้ พนักงาน รัฐบาลและหน่วยงานราชการ ตลอดจนสังคมและชุมชนจะได้รับการดูแลจากบริษัทด้วยความเสมอภาคอย่างเคร่งครัดตามสิทธิประโยชน์และความคุ้มครอง ด้วยความเป็นธรรมและเหมาะสม ดังนี้

  •   ผู้ถือหุ้น :

    บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ถูกต้อง ยุติธรรม และเป็นไปตามกฏระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คำนึงถึงผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น และเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเท่าเทียมกันผ่านเว็บไซต์นักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัทเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว

  •  ลูกค้า :

    บริษัทจัดจำหน่ายสินค้าและบริการในราคายุติธรรม มีคุณภาพในระดับมาตรฐานสากล และพึงปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า

  •  คู่แข่งขัน :

    ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท กำหนดกลยุทธ์และการแข่งขันทางธุรกิจรวมถึงพึงปฏิบัติต่อคู่แข่งขันอย่างยุติธรรมและมีจรรยาบรรณ โปร่งใส หลีกเลี่ยงวิธีที่ไม่สุจริต เพื่อทำลายคู่แข่ง ไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของคู่แข่ง ไม่แสวงหาข้อมูลที่เป็นความลับ โดยไม่เหมาะสมหรือไม่สุจริต ให้ความร่วมมือในการแข่งขันเพื่อสร้างสภาวะตลาดที่ดี เช่น การให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวสินค้าหรือสร้างสรรค์สินค้า หรือบริการใหม่

  •  คู่ค้า :

    บริษัทให้ความสำคัญในการปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างเสมอภาค ตามกรอบการแข่งขันทางการค้าที่สุจริต โปร่งใส ให้ความเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ไม่เรียก หรือรับทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์ใดๆ จากคู่ค้า ไม่ซื้อสินค้ากับคู่ค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน และ ไม่ทำธุรกิจกับคู่ค้าที่กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเว้นการสร้างอำนาจต่อรองทางการค้าด้วยวิธีต่างตอบแทนหรือสร้างเงื่อนไขบังคับให้ปฏิบัติตาม และมีความซื่อสัตย์สุจริตในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการจัดหาและตรวจสอบคู่ค้าที่บริษัทได้ประกาศไว้

  •  เจ้าหนี้:

    บริษัทดำเนินงานภายใต้เงื่อนไขทางธุรกิจอย่างสมเหตุผล และเป็นไปตามธรรมเนียมการปฏิบัติในอุตสาหกรรม ปฏิบัติตามเงื่อนไขการค้าและสัญญาอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม มีความซื่อสัตย์ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อถือและเป็นธรรมให้กับเจ้าหนี้

  •  พนักงาน :

    บริษัทถือว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่า การมีพนักงานที่ดี มีความสามารถ ขยัน ซื่อสัตย์ จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืน บริษัทจึงได้ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเท่าเทียมและ เป็นธรรมโดยกำหนดอัตราค่าจ้าง ผลตอบแทนที่เป็นธรรม และจัดสวัสดิการที่เหมาะสม สนับสนุนให้พนักงานมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นพร้อมกับปลูกฝังให้พนักงานปฏิบัติตนตามกรอบของจรรยาบรรณพนักงาน และสร้างเสริมสภาพแวดล้อม ในการทำงานให้น่าอยู่ด้วยการจัดสถานที่ทำงานให้พอเพียง มีอุปกรณ์การทำงานและห้องประชุมให้ทันสมัยใช้งานได้อย่างสะดวก มีการปลูกต้นไม้และบำรุงรักษาเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวโดยรอบอาคาร ส่งเสริมให้พนักงานใช้รถจักรยานแทนรถยนต์ ในการเดินทางโดยรอบแต่ละอาคารของบริษัทเพื่อลดมลภาวะ รวมถึงการจัดหาเครื่องป้องกันภัย อันอาจเกิดจากการทำงานมีห้องพยาบาลเพื่อดูแลพนักงานที่เจ็บป่วยเล็กน้อย และการปฐมพยาบาลเบื้องต้นระหว่างเวลางาน

  •  รัฐบาลและหน่วยงานราชการ :

    บริษัทให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการในการทำหน้าที่พลเมืองที่ดี ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายในการทำธุรกิจ การทำบัญชี การเสียภาษีให้รัฐ อย่างถูกต้องตามลักษณะของธุรกิจ ทำธุรกิจกับหน่วยราชการอย่างซื่อสัตย์สุจริตและเป็นธรรม มีอัธยาศัยไมตรีประหนึ่งลูกค้าทั่วไป ละเว้นจากการติดสินบนจ้างวานข้าราชการเพื่ออำนวยความสะดวกให้ตนในการประกอบธุรกิจ และละเว้นจากการให้ความร่วมมือสนับสนุนการกระทำของข้าราชการ ที่มีเจตนาทำการทุจริตไม่ว่าในทางใดๆ รวมถึงการไม่เปิดโอกาสให้ข้าราชการประพฤติมิชอบในธุรกิจของตน

  •  สังคมและชุมชน :

    การให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและชุมชน โดยมุ่งมั่นสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนละเว้นจากการประกอบธุรกิจที่ทำให้สังคมแย่ลง และละเว้นจากการกระทำการใดๆ ที่ส่งผลต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูแลเอาใจใส่การประกอบกิจการมิให้เป็นต้นเหตุก่อมลภาวะให้สิ่งแวดล้อมและสังคมให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายในชุมชนโดยสละเวลา กำลังกาย กำลังทรัพย์ตามความเหมาะสมของตน รวมทั้งปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมให้พนักงานและผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีมีหน้าที่รับผิดชอบและทำประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชน

การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส

บริษัทได้เปิดเผยข้อมูลทั่วไปและข้อมูลทางการเงินของบริษัทตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงเปิดเผยนโยบายต่างๆ ของบริษัทต่อสาธารณชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างถูกต้องครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส ผ่านช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีความเท่าเทียมกันและน่าเชื่อถือ ดังปรากฏในแบบช่องทางการสื่อสารของบริษัท เช่น จดหมายอิเล็คทรอนิกส์ เว็บไซต์บริษัท แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี  โดยมี “ฝ่ายเลขานุการบริษัท” ทำหน้าที่หลักในการติดต่อประสานงานและสื่อสารกับนักลงทุนหรือผู้ถือหุ้น ฝ่ายเลขานุการบริษัท ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัทจะเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลต่างๆ ให้รับทราบผ่านช่องทางของเว็บไซต์ของบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน นักวิเคราะห์ สื่อมวลชน ได้รับข้อมูลความถูกต้องครบถ้วน โปร่งใส และทันต่อเหตุการณ์ อย่างไรก็ตามบริษัทได้จัดทำนโยบายการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสขึ้น ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการบริษัทจะต้องกำกับดูแลให้มีการเปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทไว้ในรายงานประจำปีและเว็บไซต์ของบริษัทด้วย และได้มีการทบทวนนโยบายการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้นโยบายดังกล่าวมีความสอดคล้องถูกต้องตามข้อกำหนดและข้อบังคับตามกฎหมายในปัจจุบัน

ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ

ปรากฎใน “โครงสร้างและบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการ” ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการบริษัทในการพิจารณาทบทวนโครงสร้างการจัดการ คู่มือการกำกับดูแลกิจการที่ดี จรรยาบรรณทางธุรกิจ และประเมินการปฏิบัติงานของคณะกรรมการทั้งรายคณะและรายบุคคล เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพการทำงาน และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ณ ปัจจุบัน ทั้งนี้ บริษัทได้มีคู่มือกรรมการซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้กรรมการสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมอีกด้วย