คำอธิบายและการวิเคราะห์
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ขยายตัวที่ระดับ 2.4% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนเรื่องมาตรการกีดกันทางการค้า และการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ภาคอุตสากรรมขยายตัวลดลง การส่งออกติดลบ ตลาดไอทีในช่วงปลายปียังอยู่ในภาวะทรงตัว ตลาดซอฟต์แวร์ที่ใช้ในระดับองค์กรยังเป็นตลาดหลักที่เติบโตรวดเร็วสุดในปีนี้ ส่งผลให้ในปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ จำนวน 7,402 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7 จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ และวัสดุสิ้นเปลือง
อีกทั้งบริษัทยังคงมีนโยบายเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงและรายได้จากการให้บริการ จึงทำให้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และบริษัทมีกำไรสุทธิ จำนวน 220 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22
– รายได้
บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ แบ่งตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ ดังนี้
- รายได้จากกลุ่มธุรกิจดิจิตอลโซลูชั่น จำนวน 2,153 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29 ลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 25 มาจากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดกลางและอุปกรณ์เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ลดลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจขยายตัวลดลงทำให้ภาคเอกชนที่ลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มีการชะลอในการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ฮาร์ดแวร์ เมื่อเทียบกับปี 2561
- รายได้จากกลุ่มธุรกิจซอฟท์แวร์โซลูชั่น จำนวน 3,475 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8 มาจากการขายระบบเครือข่าย การขาย Application Software Infrastructure Software และ License Software เพิ่มขึ้น
- รายได้จากกลุ่มดิจิตอลพริ้นติ้ง จำนวน 1,774 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24 ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 6 เนื่องจากองค์กรต่างๆมีมาตรการในการควบคุมงบประมาณในการสั่งซื้อวัสดุสิ้นเปลือง ส่งผลให้ภาพรวมของรายได้ของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในปีนี้ลดลง
อัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าปี 2561 ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 15.8 ส่วนปี 2562 เป็นร้อยละ 16.3 เป็นผลมาจากบริษัทยังคงเน้นการขายผลิตภัณฑ์ที่มีระดับมาตรฐานสูง เน้นรายได้จากการให้บริการ และการปรับเปลี่ยนวิธีการขายผลิตภัณฑ์วัสดุสิ้นเปลืองเป็นการขายแบบสัญญาการซื้อระยะยาว
– ค่าใช้จ่าย
ในส่วนของค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย
- ค่าใช้จ่ายขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27 ล้านบาท เมื่อเทียบสัดส่วนต่อรายได้จากการขายสินค้าและบริการในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 12.2 ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสาเหตุหลักเกิดจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน จำนวน 45 ล้านบาท และเนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้บริษัทฯชนะคดีที่ยื่นฟ้องต่อลูกหนี้รายหนึ่ง ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงจากการโอนกลับค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 31.4 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัทฯ
- ต้นทุนทางการเงินลดลงจากปีก่อน 5 ล้านบาท เมื่อเทียบสัดส่วนต่อรายได้จากการขายสินค้าและบริการในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.18 ใกล้เคียงกับปี 2561 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 0.23
- ภาษีเงินได้ลดลง 13 ล้านบาท เนื่องจากในปี 2561 บริษัทมีกำไรก่อนภาษีเงินได้ลดลง เมื่อเทียบสัดส่วนต่อรายได้จากการขายสินค้าและบริการในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.7 ใกล้เคียงกับปี 2561 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 0.8
ส่งผลให้บริษัทมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่จำนวน 220 ล้านบาท เทียบกับปี 2561 จำนวน 283 ล้านบาท ลดลงจำนวน 63 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22 สาเหตุหลักเกิดจากยอดขายลดลง 572 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรขั้นต้นลดลง 47 ล้านบาท
ด้านอัตราส่วนแสดงความสามารถในการทำกำไร บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิคิดเป็นร้อยละ 2.9 ลดลงจากปีก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 3.5 ส่วนของอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น มีอัตราร้อยละ 11.7 ลดลงจากปีก่อน ซึ่งมีอัตราร้อยละ 15.7
– สินทรัพย์
สิ้นปี 2562 บริษัทมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,282 ล้านบาท ลดลง 228 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2561 สินทรัพย์รวมประกอบด้วยสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 2,255 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69 ต่อสินทรัพย์รวม และสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนจำนวน 1,027 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ต่อสินทรัพย์รวม สาเหตุที่ทำให้สินทรัพย์รวมลดลงเกิดจาก
- สินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 2,255 ล้านบาท ลดลง 195 ล้านบาท เกิดจากลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง 350 ล้านบาท สินค้าคงเหลือลดลง 46 ล้านบาท ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าการเงินที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีลดลง 23 ล้านบาท เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดลดลง 12 ล้านบาท และสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นลดลง 1 ล้านบาท ส่วนเงินลงทุนชั่วคราวเพิ่มขึ้น 238 ล้านบาท มาจากเงินลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินเพิ่มขึ้น
– ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น
บริษัทมียอดลูกหนี้การค้าหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ณ สิ้นปี 2562 เท่ากับ 1,000 ล้านบาท ลดลง 361 ล้านบาท ลูกหนี้ส่วนใหญ่อัตราร้อยละ 80 เป็นลูกหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเงิน ส่วนลูกหนี้ที่เหลืออัตราร้อยละ 20 เป็นลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการติดตามชำระเงิน โดยมีลูกหนี้ที่มีอายุเกินกว่า 1 ปี จำนวนเงิน 0.4 ล้านบาท และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการดำเนินตามกฎหมาย 38 ล้านบาท ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระและติดตามทวงถาม บริษัทได้พิจารณาการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามสถานะของลูกหนี้แต่ละรายซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดขึ้นเพื่อประเมินคุณภาพลูกหนี้ ในปี 2562 บริษัทมีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเท่ากับ 6 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 6 ของลูกหนี้ทั้งหมด บริษัทมีระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ย ในปี 2562 เท่ากับ 60 วัน ส่วนลูกหนี้การค้าที่ยังไม่เรียกเก็บ ณ สิ้นปี 2562 เท่ากับ 157 ล้านบาท ลดลง 35 ล้านบาท
ลูกหนี้อื่น ณ สิ้นปี 2562 เท่ากับ 164 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า
– สินค้าคงเหลือ
บริษัทมีสินค้าคงเหลือหลังหักค่าเผื่อการลดมูลค่าของสินค้า ณ สิ้นปี 2562 เท่ากับ 401 ล้านบาท ลดลง 46 ล้านบาท สินค้าคงเหลือของบริษัทจะแบ่งออกได้เป็นสินค้าสำเร็จรูป งานโครงการระหว่างทำ และ สินค้าระหว่างทาง ระยะเวลาการขายเฉลี่ย 24 วัน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการบริหารจัดการในการควบคุมและป้องกันความเสี่ยงของบริษัท
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนจำนวน 1,027 ล้านบาท ลดลง 34 ล้านบาท เกิดจากที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ (สุทธิ) ลดลง 60 ล้านบาท ลูกหนี้สัญญาเช่าการเงินลดลง 2 ล้านบาท เงินฝากสถาบันการเงินที่ใช้เป็นหลักประกันลดลง 2 ล้านบาท ส่วนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายเพิ่มขึ้น 18 ล้านบาท สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีเพิ่มขึ้น 7 ล้านบาท มีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเพิ่มขึ้น 4 ล้านบาท และเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้นจากส่วนแบ่งกำไร 1 ล้านบาท บริษัทมีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ถาวรร้อยละ 41.1
– กระแสเงินสด
ณ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทมียอดเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเท่ากับ 42 ล้านบาทลดลง 12 ล้านบาท โดยเกิดจาก
- เงินสดสุทธิได้มาจากการดำเนินงานของบริษัท มีจำนวน 597 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักเกิดจากกำไรก่อนภาษีเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับเงินสด จำนวน 399 ล้านบาท การเปลี่ยนแปลงในลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นลดลง 426 ล้านบาท ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าการเงินเพิ่มขึ้น 12 ล้านบาท สินค้าคงเหลือลดลง 37 ล้านบาท สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นลดลง 1 ล้านบาท ส่วนเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่นลดลง 167 ล้านบาท ทำให้บริษัทมีเงินสดสุทธิได้มาจากการดำเนินงาน 685 ล้านบาท และบริษัทมีการจ่ายภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงาน 15 ล้านบาท จ่ายภาษีเงินได้สุทธิ 72 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีเงินสดสุทธิได้มาจากการกิจกรรมดำเนินงาน 597 ล้านบาท
- เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมการลงทุนของบริษัท มีจำนวน 251 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีเงินสดจ่ายซื้อ เงินลงทุนชั่วคราว 237 ล้านบาท เงินฝากเพื่อการค้ำประกันลดลง 2 ล้านบาท เงินสดรับจากการจำหน่าย ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน 0.5 ล้านบาท ซื้อทรัพย์สินถาวรและสินทรัพย์ไม่มีตัวตนเพิ่มขึ้น 35 ล้านบาท จากการลงทุนในอุปกรณ์ เครื่องใช้สำนักงาน และเครื่องตกแต่ง จ่ายชำระเจ้าหนี้ค่าทรัพย์สิน 0.4 ล้านบาท ดอกเบี้ยรับ 18 ล้านบาท
- เงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมการจัดหาเงินของบริษัท มีจำนวน 358 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีเงินสดจ่ายเพื่อชำระเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน 79 ล้านบาท เงินสดจ่ายจากเงินกู้ยืมระยะสั้นจากบริษัทอื่น 28 ล้านบาท เงินสดรับจากการขายและเช่ากลับคืน 31 ล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวลดลง 24 ล้านบาท การจ่ายชำระหนี้สินภายใต้สัญญาเช่าการเงิน จำนวน 76 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินปันผล จำนวน 169 ล้านบาท
– อัตราส่วนสภาพคล่องที่สำคัญ
ณ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น เท่ากับ 0.7 เท่า ลดลงจากปี 2561 หนี้สินที่ลดลงซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น ขณะเดียวกันส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิของปี อย่างไรก็ตามหนี้สินทั้งหมดของบริษัทเป็นหนี้สินที่เกิดจากการดำเนินงานตามปกติ
อัตราส่วนความสามารถชำระภาระผูกพันในปี 2562 เท่ากับ 1.5 เท่า เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า จากปี 2561 เนื่องจากในปี 2562 บริษัทมีกระแสเงินสดได้มาจากการดำเนินงาน 597 ล้านบาท สาเหตุหลักที่ทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น เกิดจากลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นลดลง 350 ล้านบาท ลูกหนี้ตามสัญญาเช่าการเงินลดลง 23 ล้านบาท สินค้าคงเหลือลดลง 46 ล้านบาท สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นลดลง 1 ล้านบาท เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่นลดลง 167 ล้านบาท และภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานเพิ่มขึ้น 40 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทมีการจ่ายชำระหนี้สิน 207 ล้านบาท ซื้อสินทรัพย์ 35 ล้านบาท และจ่ายเงินปันผล 168 ล้านบาท
อัตราส่วนสภาพคล่องของบริษัท ณ สิ้นปี 2562 เท่ากับ 1.9 เท่า เพิ่มขึ้นจากปี 2561 เนื่องจากลูกหนี้การค้าลดลง บริษัทมีระยะเวลาเก็บหนี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 53 วันเป็น 60 วัน ระยะเวลาชำระหนี้เพิ่มขึ้นจาก 38 วันเป็น 39 วัน และระยะเวลาการขายสินค้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 20 วัน เป็น 24 วัน ส่วนสภาพคล่องหมุนเร็ว ณ สิ้นปี 2562 เท่ากับ 1.2 เท่า เท่ากับปี 2561 เกิดจากลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญลดลง 350 ล้านบาท และเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่นลดลง 181 ล้านบาท
– หนี้สิน
หนี้สินรวม ณ สิ้นปี 2562 เท่ากับ 1,389 ล้านบาท ลดลง 260 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน หนี้สินรวมประกอบด้วยหนี้สินหมุนเวียนจำนวน 1,169 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 84 ต่อหนี้สินรวม และหนี้สินไม่หมุนเวียนจำนวน 219 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ต่อหนี้สินรวม สาเหตุที่ทำให้หนี้สินรวมลดลงเกิดจาก
- หนี้สินหมุนเวียนจำนวน 1,169 ล้านบาท ลดลง 260 ล้านบาท เกิดจากเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้หมุนเวียนอื่นลดลง 181 ล้านบาท โดยมีเจ้าหนี้การค้าเท่ากับ 572 ล้านบาท ลดลง 194 ล้านบาท บริษัทมีระยะเวลาชำระหนี้ 39 วัน ส่วนเจ้าหนี้อื่นมีจำนวนเท่ากับ 328 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เงินมัดจำและเงินรับล่วงหน้า มีเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินลดลง 79 ล้านบาท หนี้สินตามสัญญาเช่าการเงินที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีลดลง 16 ล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีลดลง 15 ล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะสั้นลดลง 6 ล้านบาท ส่วนภาษีเงินได้ค้างจ่ายเพิ่มขึ้น 3 ล้านบาท
- หนี้สินไม่หมุนเวียนจำนวน 219 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6 ล้านบาท เกิดจากประมาณการหนี้สินไม่หมุนเวียนสำหรับผลประโยชน์พนักงานเพิ่มขึ้น 40 ล้านบาท ส่วนหนี้สินตามสัญญาเช่าการเงินลดลง 26 ล้านบาท เงินกู้ระยะยาวลดลง 9 ล้านบาท และหนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีลดลง 5 ล้านบาท
– ส่วนของผู้ถือหุ้น
ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม ณ สิ้นปี 2562 เท่ากับ 1,893 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เนื่องจากมีกำไรสุทธิในปี 2562 จำนวน 220 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินปันผลในปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 0.47 บาท รวมเป็นเงิน 169 ล้านบาท
บริษัทได้ทำสัญญาเช่าดำเนินงาน ดังนี้:
- สัญญาเช่ารถยนต์ มีระยะเวลา 5 ปี เป็นสัญญาที่ยกเลิกไม่ได้ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องจ่ายในอนาคตภายใน 1 ปี เป็นจำนวน 11 ล้านบาท หลังจาก 1 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี เป็นจำนวน 10 ล้านบาท
บริษัทได้เปิดเผยข้อมูลไว้แล้วในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ข้อ 32 ของงบการเงินปี 2562.